พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงฝึกหัดดนตรีมาแต่ยังทรงพระเยาว์  ทรงตั้งวงดนตรีส่วนพระองค์ตั้งแต่ดำรงอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามบรมราชกุมาร  ต่อมาเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงส่งเสริมการดนตรีและละครยิ่งขึ้น  โปรดเกล้าฯให้ตั้งกรมมหรสพขึ้น เพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ทรงให้สร้างโรงละครหลวงขึ้นตามพระราชวังต่างๆ และทรงร่วมแสดงด้วย นอกจากนี้ยังพระราชทานทินนามและนามสกุลแก่นักดนตรีและนักร้องเป็นจำนวนมาก จึงนับว่าสมัยพระองค์เป็นยุคของดนตรีไทย  พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทละครร้อง ละครรำ ละครพูด  และบทเสภาไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งนิยมนำมาบรรจุเป็นบทร้องเพลงต่างๆ  เช่น เพลงสยามานุสติ เถา (จากบทร้องแทรกละครเรื่อง ปล่อยแก่)  เพลงลมพัดชายเขา (จากเรื่องสาวิตตี)  เพลงพราหมณ์เข้าโบสถ์ เถา (จากเรื่องศกุนตรา) เพลงขอมทรงเครื่อง เถา เพลงขอมเงิน เถา  เพลงเขมรเหลือง เถา (จากละครเรื่องพระร่วง)  นอกจากนี้พระองค์ยังทรงแก้ไขบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์  ในเนื้อร้องของเพลงสรรเสริญพระบารมี  ที่คนไทยใช้ร้องถวายความเคารพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  มาจนถึงปัจจุบัน