ครูช้อย สุนทรวาทิน

          ครูช้อย เป็นบุตรของครูทั่ง ครูดนตรีที่มีชื่อเสียงในยุคต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อตอนเล็กๆ ตาบอดเพราะเป็นไข้ทรพิษ แต่ครูมีความสามารถทางดนตรีได้ โดยมิได้ร่ำเรียนอย่างจริงจัง ครูช้อยสามารถตีระนาดเอกนำวงได้โดยไม่ผิดตกบกพร่อง จนทำให้บิดาซึ่งแต่เดิมไม่ได้สนใจถ่ายทอดวิชาให้เพราะเห็นว่าตาบอด ในที่สุดบิดาได้ทุ่มเทถ่ายทอดวิชาการดนตรีให้ ต่อมาในบรรดาศิษย์ของครูช้อยนั้นก็มีพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) เจ้ากรมพิณพาทย์หลวงในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นบุตรของครูช้อย และพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เจ้ากรมพิณพาทย์หลวงในรัชกาลที่ ๖ นักดนตรีไทยสองคนเท่านั้นที่ได้มีบรรดาศักดิ์ เป็นถึงชั้นพระยาทางดนตรีไทย นอกนั้นศิษย์ของครูช้อยก็มีอีกหลายคน เช่น พระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน) หลวงบรรเลงเลิศเลอ (กร กรวาทิน)
        ผลงานของครูช้อย สุนทรวาทิน ถือเป็นสมบัติอันมีค่ายิ่งนักดนตรีทุกคนต้องรู้จักเช่นเพลงแขกลพบุรี โหมโรงครอบจักรวาล โหมโรงมะลิเลื้อย ม้าย่อง อกทะเล แขกโอด ใบ้คลั่ง เขมรปี่แก้ว เขมรโพธิสัตว์ เทพรัญจวน พราหมณ์เข้าโบสถ์ ฯลฯ