ครูมนตรี ตราโมท


          ครูมนตรี ตราโมท  เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี เริ่มหัดฆ้องใหญ่เมื่ออายุ ๑๕ ปี กับครูสมบุญ สมสุวรรณ ต่อมาจึงเรียนดนตรีที่กรุงเทพ กับพระยาประสาน ดุริยศัพท์ เรียนฆ้องใหญ่กับหลวงบำรุงจิตเจริญ เรียนระนาดทุ้มกับพระพาทย์บรรเลงรมย์ ต่อมาเรียนกับหลวงประดิษฐไพเราะ          เมื่ออายุประมาณ ๑๘ ปี ครูแต่งเพลง "ต้อยตลิ่ง" และได้แต่งเพลงไว้เป็นจำนวนมาก
ครูมนตรี   ตราโมท
อาจารย์มนตรี  ตราโมท  เดิมชื่อ  บุญธรรม  ตราโมท  เกิดวันที่  ๑๗  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๔๔๓   ที่บ้านท่าพี่เลี้ยง   อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี  เป็นบุตรนายยิ้ม  และนางทองอยู่  เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๗๕   สมรสกับนางสาวลิ้นจี่  (บุรานนท์)  มีบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่  ๒ คน  คือ  นายฤทธี  และนายศิลปี  ต่อมาเมื่อนางลิ้นจี่  ถึงแก่กรรมจึงแต่งงานกับนางสาวพูนทรัพย์  (นาฏประเสริฐ)  มีบุตร ๒  คน  คือ  นางสาวดนตรี  และนายญาณี 
                ความสามารถและผลงาน
                อาจารย์มนตรี  ตราโมท  เริ่มการศึกษา   โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุพรรณบุรี  (ปรีชาพิทยากร)  สอบได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  ๓ ภายหลังไปเรียนต่อที่โรงเรียนพรานหลวง  ในพระบรมราชูปถัมภ์  จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่  ๖
                อาจารย์มนตรี  สนใจดนตรีมาตั้งแต่เด็ก  เนื่องจากบ้านอยู่ใกล้วัดสุวรรณภูมิ  ซึ่งที่วัดนี้มีวงปี่พาทย์และมีการฝึกซ้อมอยู่เสมอ  จึงได้ยินเสียงเพลงจากวงปี่พาทย์อยู่เป็นประจำ   จนในที่สุดได้รู้จักกับนักดนตรีในวงและขอเข้าไปเล่นด้วย  เมื่อมีการบรรเลงก็มักจะไปช่วยตีฆ้องเล็กหรือทุ้มเหล็กด้วยเสมอ 
                เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่  ๓ อาจารย์มนตรีตั้งใจจะมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ  แต่บังเอญเจ็บกระเสาะกระแสะเรื่อยมา  จึงไม่ได้เรียนต่อ  ครูสมบุญ  นักฆ้องซึ่งเป็นครูปี่พาทย์ประจำวงที่วัดสุวรรณภูมิ  ชวนให้มาหัดปี่พาทย์  จึงได้เริ่มเรียนอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมาประมาณ  ๒  ปี  และได้เป็นนักดนตรีประจำวงปี่พาทย์  จังหวัดสุพรรณบุรี 
                ต่อมา  ได้ไปศึกษาเพิ่มเติมด้านปี่พาทย์ที่จังหวัดสมุทรสาคร  ราว  พ.ศ.  ๒๔๕๖  ที่บ้านครูสมบุญ  สมสุวรรณ  ที่บ้านนี้มีวงปี่พาทย์และแตรวง  อาจารย์มนตรีจึงได้ฝึกทั้ง  ๒  อย่างคือ ด้านปี่พาทย์  ฝึกระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่  ด้านแตรวง  ฝึกเป่าคลาริเน็ต  นอกจากนี้ครูสมบุญยังได้แนะวิธีแต่งเพลงให้ด้วย
                ในปี   พ.ศ.  ๒๔๖๐ อาจารย์มนตรี  ได้เข้ามาสมัครรับราชการในกรมพิณพาทย์หลวง  ซึ่งมีพระยาประสานดุริยศัพท์  (แปลก  ประสานศัพท์)  เป็นเจ้ากรม  ขณะที่ทำงานอยู่ก็ได้เรียนโรงเรียนพรานหลวงด้วยจนจบมัธยมศึกษาปีที่  ๖
                อาจารย์มนตรี  ได้รับเลือกเป็นนักดนตรีประจำวงข้าหลวงเดิม  เป็นวงที่จะต้องตามเสด็จทุกๆแห่ง  โดยพระยาประสานดุริยศัพท์จะเป็นผู้ควบคุมทุกครั้ง  อาจารย์มนตรี  เริ่มแต่งเพลงเมื่ออายุ  ๒๐ ปี  เพลงแรกที่แต่ง  คือ  เพลงต้อยติ่ง  ๓ชั้น เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๖๗  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวน  แพทย์ถวายการแนะนำให้ทรงฟังนิทานหรือดนตรีเบา  ประกอบกับเสวยพระโอสถ  กรมมหรสพจึงจัดวงเครื่องสายเบาๆ บรรเลงถวาย  วงเครื่องสายนี้ได้เพิ่มขิมขึ้น  อาจารย์มนตรีได้รับหน้าที่เป็นผู้ตีขิม  ในวังหลวงเป็นคนแรก  บรรเลงถวายทุกวันจนพระอาการหายเป็นปกติ