สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
         

พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี พระนามเดิมว่า ฉิม เป็นราชโอรสองค์ที่ ๕ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ประสูติเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาในสำนักพระวันรัต (ทองอยู่) ณ.วัดบางหว้าใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงวิศรสุนทร ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ได้ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามและประทับที่วัดสมอลาย (ปัจจุบันคือวัดราชาธิอวาส) ๑ พรรษา ต่อมา พ.ศ. ๒๓๔๙ ได้ทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดาในปี พ.ศ. ๒๓๕๒ มีเหสีทรงพระนามว่า กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์
ชั่วระยะ ๑๕ ปี ที่พระองค์ครองราชย์อยู่นั้นนับว่าประเทศไทย อยู่บนสถานภาพปกติสุขว่างเว้นจากการสงคราม พอที่พระองค์จะทรงหันมาทำนุบำรุงประเทศชาติในด้านศิลป วรรณคดี และสถาปัตยกรรมได้เต็มที่วรรณคดีในสมัยของพระองค์รุ่งเรืองถึงขีดสุด และถือเป็นแบบฉบับอันยอดเยี่ยมไม่ว่าจะเป็นคำกลอน ละครนอกละครใน เสภา นิราศ กาพย์ ฉันท์ ลิลิต โครงสี่สุภาพ หรือโครงด้น ในทางนาฏศิลป ทรงปรับปรุงการละครจนถึงขั้นมาตรฐานทั้งในคำร้องและทำนองรำ พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้หลายเรื่องคือ

  • เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนบางตอน
  • บทละครเรื่องอิเหนา
  • บทละครเรื่องไชยเชษฐ์ สังข์ทอง คาววี ไกรทอง มณีพิชัย
  • กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน
  • บทพากย์โขน ตอน พรหมาพัตร์ นากบาส นางลอย และเอราวัณ

บทละครเรื่องอิเหนานับว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการดนตรีไทยอย่างยิ่ง เพราะนักร้องและนักดนตรีไทยได้คัดเลือกเอาบทต่าง ๆ ในบทละครรำเรื่องนี้ไปใช้ในบทขับร้องเพลงกล่อมนารี เขมรฝีแก้วทางสักว่า เขมรราชบุรี แขกมอญ แขกอาหวัง ครุ่นคิด ต้นบรเทศ ถอนสมอ ทยอยเขมร เทพไสยาสน์ เทพรัญจวน ธรณีร้องไห้ นางครวญ บังใบ บุหลัน แปดบท ลมพัดชายเขา ล่องลม สาวน้อยเล่นน้ำ สี่บทและหกบท เป็นต้น ซึ่งแต่ละเพลงมีเนื้อร้องที่ไพเราะ เหมาะสมอย่างยิ่ง เช่น

บทร้องเพลงธรณีร้องไห้เถา

  แล้วว่าอนิจจาความรัก พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา
สตรีใดในพิภพจบแดน ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า
ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์
โอ้ว่าเสียดายตัวข้านัก เพราะเชื่อลิ้นหลงรักจึงช้ำจิต
จะออกชื่อลือทั่วไปชั่วทิศ เมื่อพลั้งคิดผิดแล้วจะโทษใคร

บทร้องเพลงใบบังเถา

  น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา แหวกว่ายปทุมมาอยู่ไหวไหว
นิลุมลพ้นน้ำอยู่ร่ำไร ตูมตั้งบังใบอรชร
เหล่าขาวเหล่าแดงสลับสี คลายคลี่คลายแย้มเกสร
บัวเผื่อนเกลื่อนกลาดในสาคร บังอรเก็บเล่นกับนารี
นางทรงหักห้อยเป็นสร้อยบัว สวมตัวกำนัลสาวศรี
ปลิดกลีบประมาณมากมี นารีลอยเล่นเป็นนาวา

พระองค์ทรงโปรดดนตรีไทยมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งซอสามสายเป็นเครื่องดนตรีที่พระองค์โปรดปรานมาก ถึงกับพระราชทาน "ตราภูมิคุ้มห้าม" แก่เจ้าของสวนที่มีกะลามะพร้าวชนิดที่ใช้กระโหลกซอสามสายได้ เพื่อมิต้องเสียภาษีอากร ซอสามสายที่เป็นคู่พระหัตถ์นั้นทรงพระราชทานนามว่า "ซอสายฟ้าฟาด" เมื่อว่างจากพระราชกิจพระองค์มักจะทรงโปรดซอสามสายอยู่เสมอ ถ้าไม่รวมวงก็จะทรงเดี่ยวด้วยพระองค์เอง มีเรื่องเล่ากันว่า "คืนหนึ่งหลังจากที่ได้ทรงซอสามสายอยู่จนดึกแล้วเสด็จเข้าที่บรรทม ก็ทรงสุบินว่า พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปในสถานที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่สวยงามมาก และได้ทอดพระเนตรเห็นดวงจันทร์ลอยเข้ามาใกล้พระองค์ สาดแสงสว่างไสวไปทั่วบริเวณ ทันใดนั้นก็พลันได้ทรงสดับเสียงดนตรีทิพย์อันไพเราะเสนาะกรรณเป็นอย่างยิ่ง จึงเสด็จประทับทอดพระเนตรทิวทัศน์อันงดงาม และทรงสดับเสียงดนตรีอันไพเราะอยู่ด้วยความเพลิดเพลินเจริญพระราชหฤทัย ครั้งแล้วดวงจันทร์ก็เริ่มถอยห่างออกไปในท้องฟ้า พร้อมกับเสียงดนตรีทิพย์ค่อย ๆ ห่างจนเสียงหายไป ก็ทรงตื่นพระบรรทม

เพื่อพระองค์ทรงตื่นจากพระบรรทมแล้ว เสียงดนตรีในทรงสุบินก็ยังกังวานอยู่ในพระโสต จึงโปรดให้ตามพนักงานดนตรีเข้ามาต่อเพลงไว้ แล้วพระราชทานนามว่า ."เพลงบุหลันลอยเลื่อน" หรือ "บุหลันเลื่อนลอยฟ้า" หรือบางทีเรียกว่า "เพลงสรรเสริญพระจันทร์" มีนักดนตรีจำสืบมาจนบัดนี้ แต่เป็นรู้จักกันดีในชื่อว่า "เพลงทรงพระสุบิน" และเคยใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีในสมัยหนึ่ง ต่อมามีผู้แต่งเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นทำนองอย่างอื่นหรือเป็นทำนองฝรั่งขึ้น จึงเรียกเพลงทรงพระสุบินที่ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้นว่า "เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย"

ทำนองเพลงพระสุบินนี้เคยใช้เป็นทำนองในบทละครเรื่องอิเหนาประกอบบทร้องว่า

กิดาหยันหม่อมกรานอยู่งานพัด พระบรมโสมนัสอยู่ในที่
บุหลันเลื่อนลอยฟ้าไม่ราคี รัศมีส่องสว่างดังกลางวัน
พระนิ่งนึกตรีกไตรไปมา จะแต่งคูหาสะตาหมัน
ป่านนี้พระองค์ทรงธรรม์ จะนับว่าเคร่าคอยทุกเวลา
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงครองราชสมบัติเป็นเวลาทั้งสิ้น ๑๕ ปี สวรรคต เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฏาคม๒๓๖๗ มีพระชนมายุ ๕๖พรรษากับ ๕ เดือน