สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
       
                สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นเอตทัคคะในทางดนตรีไทย ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอนุเคราะห์สนับสนุนกิจกรรมด้านดนตรีไทยเสมอมา พระองค์เคยพระราชดำรัสไว้ว่า  "ดนตรีไทยดูเหมือนจะพัวพันกับชีวิตประจำวันของข้าพเจ้าตั้งแต่เกิดมา พอเกิดเขาก็ประโคม เวลาสมโภชเขาก็ประโคมอะไรกันอีกในตอนเด็กๆนี้ เคยรู้สึกอยากเล่นดนตรีไทยอยู่นิดหน่อย คือ เห็นระนาดเอกวางอยู่รางหนึ่ง ก็ตรงรี่เข้าไปจะตี แต่มีคนห้าม อ้างว่าเครื่องดนตรีไทยเป็นของมีครู ไปทำเล่นๆ เหมือนเปียโน กีต้าร์ไม่ได้ ถ้าไปเล่นเข้าครูอาจจะบันดาลให้มีอันเป็นไปอะไรก็ได้ ก็เลยไม่ได้เล่น ตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ เลือกเรียนซอด้วงเพราะที่โรงเรียนมีแต่เรียนเครื่องสายไม่มีระนาด ซึ่งเป็นของชอบตั้งแต่เรียนดนตรีไทยเลยเกือบจะเลิกฟังเพลงอย่างอื่นหมด เที่ยวหาแผ่นเสียงเพลงไทย มีฟังในโอกาสที่มีงาน เคยเชิญวงของครูเทวาประสิทธิ์พาทยโกศล และ ครูไพฑูรย์กิตติวรรณมาบรรเลง นั่งฟังไปมาเกิดติดใจครูไพฑูรย์จึงขอเรียนด้วย ตั้งแต่นั้นก็ได้เรียนพิเศษกับครูแต่ก็ยังไม่ได้เลิกเรียนที่โรงเรียน เป็นคนเดียวในรุ่นที่เรียนดนตรีไทยจนจบ ม.ศ.๕ จึงเป็นคนอาวุโสที่สุดในวง ตอนนี้เวลามีงานโรงเรียนเผลอๆ ข้าพเจ้าก็ยังไปเล่นกับเด็กๆ เวลาฉากยังไม่เปิด ดนตรีไทยนี้เล่นแล้วติดจริงๆ สบโอกาสเมื่อไรก็ต้องไปฟัง แต่ก่อนอธิบายได้ว่าชอบเพราะชาตินิยม หลังๆ นี้ ชอบเพราะฟังแล้วสนุก ตื่นเต้น มีทุกรส สมดังบทกลอนที่ ม.ล.ขาบ กุญชรท่องในตอนต้นรายการ"ดนตรีไทยไร้รสหรือ" ทางวิทยุ ท.ท.ท. นานมาแล้ว "
นอกจากนั้นพระองค์ยังมีความสามารถทางด้านขับร้องเพลงไทยเดิม ทรงพระราชนิพนธ์บทขับร้องเพลงไทยเดิมไว้หลายเพลงเช่น เต่ากินผักบุ้ง , พัดชา,นางนาค,ขึ้นพลับพลา
ตัวอย่างบทเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์
เต่าเห่
เห่เอยค่ำแล้ว
อาทิตย์แคล้วครรไลลา
ดาวประทับท้องนภา
พระจันทราพารถจร
หลับเถิดนะสายใจ
เจ้าอย่าอาลับอาวรณ์
จักถนอมกล่อมให้นอน
จะขอพรปวงเทวัญ
เติบใหญ่ให้แกล้วกล้า
เรืองวิชาทุกสิ่งสรรพ์
มีเลือดไทยในปางบรรพ์
มิเคยหวั่นผองไพรี
จงครองคุณธรรมพร้อม
ศรัทธาน้อมปัญญามี
จงลดอคติสี่
มีขันตีออมอดใจ
อุปสรรคจะหนักหนา
เจ้าก็อย่าโศกาลัย
เมื่อหวังปองเทิดผองไทย
ก็แกร่งไกรดุจศิลา
ขวัญข้าวจงอยู่ดี
ฟังคำพี่จำนรรจา
แล้วหลับนัยนา
นิทราให้สำราญ
(ฟังเสียงจิ้งหรีดร้อง
กังวานก้องเสียงประสาน
แก้วเกดสุมามาลย์
ก็เบิกบานชมแสงเดือน)
นอกจากดนตรีไทยแล้ว พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ และพระราชจริยาวัตรในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติทุกๆด้าน รวมทั้งได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการสร้างสรรค์และ ธำรงรักษามรดกของชาติให้ยั่งยืนตกทอดต่อไปถึงลูกหลาน ทรงได้รับการถวายพระสมัญญาเป็น "เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย" และ "วิศิษฏศิลปิน" อันหมายถึง ผู้เป็นเลิศในทางศิลปะ ทรงเป็นเมธีทางวัฒนธรรม และทรงมีคุณูปการต่องานศิลปะวัฒนธรรม