เครื่องดนตรีของภาคอีสานตอนใต้
ประเภทเครื่องดีด
 
กระจับปี่ (จับเปย) เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด โดยใช้กระที่ทำจากเขาสัตว์ กล่องเสียงทำ ด้วยไม้ขนุนหรือไม้สัก ส่วนปลายสุดมีรู ๒ รู ใช้ใส่ลูกบิดและร้อยสาย เมื่อบรรเลง จะตั้งขนานกับลำตัว มือขวาจับกระสำหรับดีด มือซ้ายกดที่สายเพื่อเปลี่ยนระดับเสียง

พิณกระแสเดียวหรือ กระแสมุย (พิณน้ำเต้า) แปลว่า พิณเสียงเดียวหรือพิณสายเดียวเป็นเครื่องดนตรีโบราณที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากอินเดีย ปรากฎ
หลักฐานในภาพจำหลัก ที่ระเบียงปราสาทหินนครวัดและที่ปราสาทนครธม   กระโหลกพิณทำด้วยลูกน้ำเต้าแก่จัด ตากให้แห้งตัดครึ่งด้านขวางของผล แกะเมล็ดในและเยื่อออกให้หมด ใช้หวายขันชะเนาะ กระโหลกน้ำเต้าให้ติดกับโคนของคันพิณ ลูกบิดอยู่ทางด้านโคนสุด ของคันพิณขึงโยงด้วยสายโลหะ จากลูกบิดสอดหวายที่ขันชะเนาะอยู่ไปผูก กับปลายคันพิณ ตอนปลายสุดมี ลักษณะงอนเป็นรูป พญานาคชูหัว ซึ่งชาวไทยภาค เหนือ เรียกว่า พิณน้ำเต้า (เป็นเครื่องดนตรีที่มีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรม
)
จะเข้กระบือ เป็นเครื่องดนตรีสำคัญชิ้นหนึ่งในวงมโหรีเขมร เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีดในแนวนอน มี ๓ สาย สมัยก่อนสายทำจากเส้นไหมฟั่น ปัจจุบันทำจาก สายโลหะ การบรรเลงจะใช้มือซ้ายกด สายบนเสียงที่ต้องการ ส่วนมือขวาใช้สำหรับดีด
ประเภทเครื่องสี


ซอกันตรึม เป็นเครื่องสายใช้สี ทำ ด้วยไม้ กล่องเสียงขึงด้วยหนังงู มีช่องเสียง อยู่ด้านตรงข้ามหน้าซอ ใช้สายลวดมี ๒ สาย คันชักอยู่ระหว่างสาย คันซอยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร มีลูกบิดอยู่ด้านบน ใช้เชือกรัดระหว่างสายทั้งสองเส้น (เหมือนรัดอกของซอภาคกลาง)ขนาดของซอแตกต่างกัน โดยทั่วไปมี ๓ ขนาด คือ ขนาดเล็กเรียก ตรัวจี้ ขนาดกลางเรียกตรัวเอก ขนาดใหญ่เรียกตรัวธม

ตรัวจ์อูมีลักษณะคล้ายซออู้ตามปกติส่วนซออู้นั้นกระโหลกซอจะใช้กะลามะพร้าวขนาดใหญ่และใช้หนังงูเหลือม หรือหนังตะกวดปิดหน้ากระโหลกซอ วงกันตรึมในปัจจุบันนิยมใช้ตรัวเอก และตรัวจ์อูบรรเลงในงาน
ประเภทเครื่องตี

กลองกันตรึม เป็นเครื่องหนังชนิดหนึ่งทำด้วยไม้ขุดกลวง ขึงหน้าด้านหนึ่งด้วยหนังดึงให้ตึงด้วยเชือก ใช้ดีประกอบจังหวะในวงกันตรึม

ประเภทเครื่องเป่า

ปี่อ้อ หรือ เบ็ยออ เป็นปี่ที่ทำจากไม้ไผ่ ส่วนที่เป็นตัวปี่ทำด้วยไม้อ้อ โดยเหลาปลายข้างใดข้างหนึ่งจนบาง แล้วบีบให้แบนประกบกันในลักษณะลิ้นคู่ แต่ที่ปลายลิ้นยังมีลักษณะกลมเพื่อสวมส่วนที่เป็นท่อนปลายของตัวปี่ และใช้ไม้ไผ่หรือหวายเล็กบีบประกบกัน เพื่อให้ปลายลิ้นของปี่มีรูปร่างคงเดิมอยู่เสมอ ลำตัวของปี่อ้อจะเจาะรูด้านบน ๗ รู และด้านล่างอีก ๑ รูไว้สำหรับ ปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง
อังกุ๊ยส์เป็นเครื่องดนตรีใช้ดีดประเภทหนึ่งทำด้วยไม้ไผ่เหลาเซาะตรงกลางให้เป็นลิ้นด้านหนึ่งเป็นที่มือจับ ด้านตรงข้ามเป็นบริเวณที่ใช้ดีดความยาวประมาณ๑๐ - ๑๕ ซม. กว้างประมาณ๑ - ๒ ซ.ม. มีหลายขนาด เวลาดีด ใช้ประกบกับริมฝีปาก โดยให้กระพุ้งปากเป็นกล่องเสียงเป็นเครื่องดนตรีโบราณ เล่นกันมาช้านานจนปัจจุบัน เครื่องดนตรีชิ้นนี้ มีเหมือนกันหลายที่ ทางอิสานเหนือเรียก หุน หึน ภาคเหนือชาวเขาเรียก เปี๊ยะ ภาคกลางเรียก จ๊องหน่อง หรือ จิ๊งหน่อง ภาคพายัพเรียก หุน (ไม้) โกย (โลหะ)ใช้บรรเลงคนเดียว
ปี่ไสน (ปี่ไสล) เป็นปี่ลิ้นคู่ ลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลสวมต่อกับเลาปี่ที่ทำด้วยไม้ ยาวประมาณ ๒๐ ซม. มีรูบังคับเสียง ๖ รู และรูหัวแม่มืออีก ๑ รู ตรงปลายเลาบี่ทำเป็นปากลำโพง ขนาดประมาณ ๕ - ๗ ซม. คล้ายปี่ไฉนของภาคกลาง และปี่ไหนของภาคใต้