พระประดิษฐไพเราะ
              พระประดิษฐไพเราะ(มี ดุริยางกูร) เกิดตอนปลายรัชกาลที่ ๑แห่งพระราชวงศ์จักรีท่านเป็นครูดนตรีมาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาล   พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ นั้น ครูมีแขกได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงประดิษฐไพเราะ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายนพ.ศ๒๓๙๖ ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็กว่าราชการกรมปี่พาทย์ ฝ่ายพระบวรราชวัง ในปีเดียวกันนั้นเองท่านได้แต่งเพลงเชิดจีน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด้จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่สมพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งจึงโปรดให้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากหลวงประดิษฐไพเราะเป็นพระประดิษฐไพเราะ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๓๙๖ ได้รับสมญาว่าเป็นเจ้าแห่งเพลงทยอย(เพลงประเภทลูกล้อลูกขัด)
เพลงเชิดจีนที่ท่านแต่งขึ้นนี้ใช้วิธีอันแปลกประหลาดกว่าเพลงไทยทั้งหลายที่เคยมีมาก สำนวนทำนองของเพลงมีทั้งเชิงล้อ เชิงชน ทีหนีทีไล่ ล้อหลอกกันไปมาระหว่างเครื่องกับเครื่องตามอย่างสนุกสนานและไพเราะเริงเร้ากระตุ้นเตือนใจชวนให้ฟังตลอดเวลา เพลงนี้จะฟังให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือจะเอาไปใช้ประกอบการรำ หรือแสดงละครก็ได้
ครูมีแขกเป็นผู้มีความสังเกตและสนใจจดจำสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้เห็นได้ยินได้ฟังเพลงดนตรีแปลก ๆ แล้ว ท่านจะจดจำนำมาดัดแปลง หรือมาแต่งเป็นเพลงขึ้นใหม่ตามหลักดุริยางค์ไทยได้อย่างไพเราะเช่น วันหนึ่งขณะเดินกลับจากสอนดนตรีในวังผ่านมาได้ยินพวกจีนเขาเล่นมโหรีกันอยู่ ก็ให้ศิษย์ที่มาด้วยกัน ๒ คน คือครูสิน ศิลปบรรเลง(พ่อครูศร) และครูลอด ช่วยกันจำไว้ พอถึงบ้านก็ได้นำมาเรียบเรียงประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นเพลงชุดของเพลงจีน ๔ เพลงคือ เพลงภิรมย์สุรางค์ เพลงอาเฮีย เพลงชมสวน เพลงแป๊ะ ทั้ง ๔เพลงนี้อยู่ในความนิยมของนักดนตรีไทยมาจนทุกวันนี้
ในรัชกาลที่๕ ครูมีแขกได้เป็นครูมโหรีในสังกัดสมเด็จกรมพระยาสุทรัตน์ราชประยูรได้ไม่นานครูมีแขกจึงถึงแก่กรรม ท่านได้เป็นต้นตระกูล "ดุริยางค์" บุตรหลานของท่านยังได้เปิดร้านจำหน่าย เครื่องดนตรี อุปกรณ์ อยู่ที่ร้านดุริบรรณ ถนนตะนาว (ปัจจุบันย้ายมาอยู่ถนนสุโขทัย)
ท่านได้สร้างผลงานให้แก่วงดนตรีไทยมากมาย เช่น เป็นต้นตำรับของการเดี่ยวเครื่องดนตรีต่าง ๆ เช่นเพลงพญาโศก พญาครวญ สารภี แขกมอญ จีนขิมใหญ่ ภิรมสุรางค์ และลมพัดชายเขา นอกจากนี้ยังเป็นต้นตำรับของการแต่งเพลงอมตอยู่ในความทรงจำของนักดนตรีไทยตลอดไป เพลงที่แต่งมีมากเช่น เพลงการเวกเล็ก กำสรวลสุรางค์ โหมโรงขวัญเมือง แขกบรเทศ แขกมอญบางช้าง จีนแส จีนขิมใหญ่ เชิดจีน ทยอยเขมร ทยอยเดี่ยว ทยอยนอก แป๊ะ อาเฮีย พญาครวญ พญาโศก พระอาทิตย์ชิงดวง และภิรมย์สุรางค์ เป็นต้น
จากการที่ท่านถนัดแต่งเพลงประเภท " ทยอย " (ลูกล้อลูกขัด) ทำให้นักดนตรีรุ่นหลัง มีการกล่าวถึงท่านในคำไหว้ครูปี่พาทย์สมัยท่านเสียชีวิตไปแล้ว ในบทที่ว่า
ทีนี้จะไหว้ครูปี่พาทย์
ฆ้องระนาดมือดีปี่ไฉน
ทั้งครูแก้วครูฟ้าเป็นหลักชัย
ครูทองอินทร์นั่นแหละใครไม่เทียบทัน
มือตอดหนอดหนักขยักขย่อน
ตาพูนมอญมิใช่ชั่วตัวขยัน
ีครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน
เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ