ประเภทของวงดนตรีพื้นเมืองเหนือ

ลักษณะการประสมวงของวงดนตรีพื้นเมืองเหนือมีดังนี้
วงสะล้อ-ซึง ( วงสะล้อ ซอ  ซึง ) เป็นวงที่มีเสียงจากเครื่องสายเป็นหลัก นิยมใช้เล่นกันตามท้องถิ่นภาคเหนือทั่วไป จำนวนเครื่องดนตรีที่ใช้ประสมวงไม่แน่นอน แต่จะมีสะล้อและซึงเป็นหลักเสมอ มีเครื่องดนตรีอื่นๆที่ เข้ามาประกอบ เช่น ปี่ก้อยหรือขลุ่ย กลองเต่งถิ้ง ฉิ่ง ฉาบ ใช้บรรเลงเพลงพื้นบ้านที่ไม่มีการขับร้อง เช่น เพลงปราสาทไหว เพลงล่องแม่ปิง เป็นต้น และสามารถใช้บรรเลงเพลงสมัยใหม่ก็ได้

ซึงใหญ่
ซึงกลาง
ซึงเล็ก
สะล้อกลาง
.สะล้อเล็ก
กลองเต่งถิ้ง
ขลุ่ยพื้นเมือง
ฉิ่ง
ฉาบ






วงปี่ชุม ( ปี่จุม)
เป็นวงดนตรีที่ใช้เล่นประกอบการแสดง“ซอ”ของภาคเหนือมีปี่เป็นชุดซึ่งมี๓แบบคือปี่ชุม๓ปี่ชุม๔และปี่ชุม๕
ปี่ชุม ๓ หมายถึง การใช้ปี่ ๓ ขนาด เป่าประสานเสียงกัน ได้แก่ ปี่แม่ ปี่กลางและปี่ก้อย
ปี่ชุม ๔ หมายถึง การใช้ปี่ ๔ ขนาด เป่าประสานเสียงกัน ได้แก่ ปี่แม่ ปี่กลาง ปี่ก้อยและปี่ตัด(ปี่เล็ก)
ปี่ชุม ๕ หมายถึง การใช้ปี่ ๕ ขนาด เป่าประสานเสียงกัน โดยเพิ่มปี่ขนาดเล็กสุดเข้ามาอีกหนึ่งเลา
แต่โดยปกติไม่ค่อยนิยมกันเพราะใช้ปี่ชุม๓หรือชุม๔ก็ได้เสียงประสานกันที่ไพเราะอยู่แล้ว

ต่ำแน่งการจัดวงแบบ ปี่ชุม๔

ปี่ก้อย

 
ปี่กลาง

ช่างซอหญิง

 
ปี่เล็ก

ช่างซอชาย


ปี่แม่

 
ซึง

 

วงแห่กลองตึ่งโนง ( กลองแอว )
กลองตึ่งโนง โดยปกติจะบรรเลงร่วมกับกลองตะหลดปด ฉาบ และฆ้อง โดยตีเป็นเครื่องประกอบจังหวะ ซึ่งในบางโอกาสที่ต้องการความอลังการ ก็มักใช้เครื่องเป่าที่มีเสียงดังประกอบด้วยนั่นคือ แน ซึ่งมีสองเลา ได้แก่ แนน้อย และแนหลวง บางครั้ง การประสมวงอาจจะมีการเพิ่มเครื่องประกอบจังหวะ และชื่อเรียก เปลี่ยนไปตามความนิยมของท้องถิ่น ดังนี้

วงกลองตึ่งโนง ประกอบด้วย กลองตึ่งโนง กลองตะหลดปด ฆ้องโมง ฆ้องอูย สว่า (ฉาบใหญ่) แนน้อย และแนหลวง
วงกลองเปิ้งโมง ประกอบด้วย กลองตึ่งโนง กลองตะหลดปด ฆ้องโมงประมาณ ๓-๕ ใบ ฆ้องอูย (ฆ้องหุ่ย) สว่า แนน้อย และแนหลวง
วงต๊กเส้ง ประกอบด้วย กลองตึ่งโนง กลองตะหลดปด ฆ้องโมง ฆ้องอูย แนน้อย แนหลวง และฉิ่ง
วงกลองอืด ประกอบด้วย กลองตึ่งโนง กลองตะหลดปด ฆ้องโมง ๓-๕ ลูก ฆ้องอูย แนน้อย แนหลวง พานหรือผ่าง (ฆ้องไม่มีปุ่ม) และฉิ่ง

วงกลองสะบัดชัย
บทบาทและหน้าที่เดิมของ กลองสะบัดชัยในสมัยก่อนใช้ตีตอนออกรบ ทำนองที่ใช้ในการตี มี ๓ ทำนอง คือ ชัยเภรี, ชัยดิถี และชนะมาร นอกจากการนั้นกลองสะบัดชัยยังมีหน้าที่ตีเพื่อความรื่นเริงในงานต่างๆ สำหรับ กษัตริย์หรือเจ้าเมือง ต่อมานำมาตีให้ชาวบ้านรับรู้พิธีของศาสนา ในงานบุญ ต่างๆ จังหวะในการตีแบบเดิมที่ตีอยู่กับที่ในหอกลองของวัดมีลักษณะต่าง ๆ กันตามโอกาสดังนี้
ตีเรียกคน เช่นมีงานประชุมหรืองานของส่วนรวมที่ต้องช่วยกันทำ ลักษณะนี้จะตีเฉพาะกลองใหญ่ โดยเริ่มจังหวะช้า และเร่งเร็วขึ้น
ตีบอกเหตุฉุกเฉิน เช่นไฟไหม้ ไล่ขโมย จะตีเฉพาะกลองใหญ่และมีจังหวะเร่งเร็วติด ๆ กัน
ตีบอกวันพระ วันโกน ลักษณะนี้จะตีทั้งกลองใหญ่และลูกตุบ(กลองใบเล็ก) มีฉาบและฆ้องประกอบจังหวะด้วย จังหวะหรือทำนองในการตีที่เรียกว่า ' ระบำ' มี ๓ ทำนองคือ
๓.๑ ปูชา ( ออกเสียง-ปู๋จา) มีจังหวะช้า ใช้ฆ้องโหม่งและฆ้องหุ่ยประกอบ
๓.๒ สะบัดชัย มีจังหวะปานกลาง ใช้ฆ้องโหม่ง ฆ้องหุ่ย และฆ้องเล็กประกอบ
๓.๓ ล่องน่านมีจังหวะเร็วใช้ฆ้องเล็กประกอบ

 

วงกลองมองเซิง
กลองมองเซิง   คือ กลองที่ขึงด้วยหนังทั้งสองหน้ามีสายโยงเร่งเสียง รูปร่างคล้ายตะโพนมอญ ไม่มีขาตั้ง แต่มีสายร้อยสำหรับคล้องคอเวลาตี เฉพาะคำว่า “ มองเซิง” เป็นภาษาไทใหญ่โดยที่ คำว่า “ มอง” แปลว่า “ ฆ้อง” ส่วน“ เซิง” แปลว่า “ ชุด” กลองมองเซิงจึงหมายถึงกลองที่ใช้ฆ้อง เป็นชุด
เพราะวงกลองมองเซิงจะเน้นเสียงฆ้องเป็นหลักใหญ่

การประสมวงกลองมองเซิง
ใช้กลองมองเซิง ๑  ลูก ฉาบขนาดใหญ่  ๑   คู่ ฆ้องขนาดใหญ่และเล็กลดหลั่นลงไปประมาณ ๕-๙ ใบ ขณะบรรเลงกลองมองเซิงจะตีรับกับฉาบ โดยลักษณะอาการ ล้อทางเสียง แบบหลอกล่อกันไป ในขณะที่มีเสียงฆ้องเป็นตัวกำกับจังหวะซึ่งมีบางแห่งเพิ่มฉิ่งตีกำกับจังหวะไปพร้อมๆกับฆ้องด้วย




วงกลองปูเจ่

วงกลองปูเจ่ ประกอบด้วยกลองปูเจ่ ฉาบใหญ่และฆ้องชุด ซึ่งมีขนาดต่างๆ กัน ๓ ใบ มีเสียงไล่ระดับกันวงกลองปูเจ่ เป็นวงดนตรีแบบของชาวไทใหญ่ นิยมใช้บรรเลงประกอบ การแห่ครัวทาน ประกอบการฟ้อนดาบฟ้อนโต ถ้าเป็นการบรรเลงโดยที่ไม่ได้ใช้ประกอบ การแสดงอะไร มักมีลีลาการตีโดยใช้ทั้งศอก เข่า และเท้า พร้อมกับแสดงท่าทางหยอกล้อ ระหว่างผู้ที่ตีฉาบกับกลอง

วงกลองเต่งถิ้ง ( ป้าดก๊อง )

วงป๊าดก๊องประกอบฟ้อนผีเมืองละกอน

หรือมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อว่า วงพาทย์ วงพาทย์ค้อง (อ่าน “ ป้าดก๊อง ” ) หรือ วงแห่ (ศพ) เป็นต้น สามารถเปรียบได้กับ “ วงปี่พาทย์มอญ ” แบบของภาคกลางนั่นเอง เครื่องดนตรีประกอบด้วย พาทย์เอก (ระนาดไม้เอก) พาทย์ทุ้ม ( ระนาดไม้ทุ้ม) พาทย์เหล็ก (ระนาดเหล็ก) พาทย์ค้อง (ฆ้องวง) กลองเต่งถิ้ง ( ตะโพนมอญ) หรือกลองโป่งป้ง กลองตัด (กลองขนาดเล็ก) แนหลวง แนน้อย ฉิ่ง สว่า (ฉาบ) และกรับ นิยมบรรเลงในการชกมวย งานศพ งานทรงเจ้า และในงานฟ้อนผีมด-ผีเมง วงกลองเต่งถิ้งชาวลำปางเรียกวงปี่พาทย์พื้นบ้านของตนว่าวงพาทย์บางครั้งเรียกว่าวงกลองทึ่งทังอันเป็นการเรียกตามเครื่องดนตรีคือกลองทึ่งทังหรือตะโพนมอญซึ่งเป็นเครื่องชิ้นเด่นในวงที่ให้เสียงกระหึ่มกังวานได้ยินในระยะไกล