สมัยกรุงธนบุรี
เนื่องจากในสมัยนี้เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงแค่ ๑๕ ปี และประกอบกับ เป็นสมัยแห่งการก่อร่างสร้างเมือง และการป้องกันประเทศเสียโดยมาก วงดนตรีไทย ในสมัยนี้จึงไม่ปรากฏหลักฐานไว้ว่า ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงขึ้น สันนิษฐานว่า ยังคงเป็นลักษณะและรูปแบบของ ดนตรีไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
       สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
                                                                                         
ในสมัยนี้ เมื่อบ้านเมืองได้ผ่านพ้นจากภาวะศึกสงคราม และได้มีการก่อสร้างเมืองให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น เกิดความ สงบร่มเย็น โดยทั่วไปแล้ว ศิลปะ วัฒนธรรม ของชาติ ก็ได้รับการฟื้นฟูทะนุบำรุง และส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยเฉพาะทางด้านดนตรีไทย ในสมัยนี้ได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเจริญขึ้นเป็นลำดับ ดังต่อไปนี้ คือ

 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑)
ดนตรีไทยในสมัยนี้ส่วนใหญ่ยังคงมีลักษณะและรูปแบบตามที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่พัฒนาขึ้นบ้างในสมัยนี้
๑.วงปี่พาทย์ เพิ่ม กลองทัด ขึ้นอีก ๑ ลูก ซึ่ง แต่เดิมมา มีแค่ ๑ ลูก พอมาถึง สมัยรัชกาลที่๑ วงปี่พาทย์ มี กลองทัด ๒ ลูก เสียงสูง (ตัวผู้) ลูกหนึ่ง และ เสียงต่ำ (ตัวเมีย) ลูกหนึ่ง
๒.วงมโหรี เพิ่มระนาดเอกในวงมโหรี ๑ ราง
๓.บทเพลงในสมัยรัชกาลที่ ๑ ไม่มี เนื่องจากเป็นช่วงฟื้นฟูวัฒนธรรมบทเพลงส่วนใหญ่ยังใช้ของเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัย กรุงศรีอยุธยา
       


 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ( รัชกาลที่ ๒ )
อาจกล่าวว่าในสมัยนี้ เป็นยุคทองของ ดนตรีไทย ยุคหนึ่ง ทั้งนี้เพราะ องค์พระมหากษัตริย์ ทรงสน พระทัย ดนตรีไทย เป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ ในทาง ดนตรีไทย ถึงขนาดที่ ทรงดนตรีไทย คือ ซอสามสาย ได้ มีซอคู่พระหัตถ์ชื่อว่า " ซอสายฟ้าฟาด" และได้ พระราชนิพนธ์ เพลงไทย ขึ้นเพลงหนึ่ง เป็นเพลงที่ไพเราะ และอมตะ มาจนบัดนี้นั่นก็คือเพลง " บุหลันลอยเลื่อน"  การพัฒนาเปลี่ยนแปลงของ ดนตรีไทย ในสมัยนี้
๑.วงปี่พาทย์เสภา ได้มีการนำเอาวงปี่พาทย์ มาบรรเลง ประกอบการขับเสภา เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ยังมีกลองชนิดหนึ่งเกิดขึ้น โดยดัดแปลงจาก " เปิงมาง" ของมอญ ต่อมาเรียกกลองชนิดนี้ว่า "สองหน้า" ใช้ตีกำกับจังหวะแทนเสียงตะโพนในวงปี่พาทย์ ประกอบการขับเสภา เนื่องจากเห็นว่าตะโพนดังเกินไป จนกระทั่งกลบเสียงขับ กลองสองหน้านี้ ปัจจุบันนิยมใช้ตีกำกับจังหวะหน้าทับ ในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง
๒.วงมโหรี และเพิ่มฆ้องวง ในวงมโหรีอีก ๑ วง
๓.บทเพลง ในสมัยรัชกาลที่ ๒ การดนตรีมี ความเจริญขึ้นตามลำดับ มีบทเพลงพระราชนิพนธ์ ชื่อว่าบุหลันลอยเลื่อน ๒ชั้น



 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ( รัชกาลที่ ๓ )
ดนตรีไทย ในสมัยนี้ส่วนใหญ่ ยังคงมีลักษณะ และ รูปแบบตามที่มีมาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ ๒ ที่พัฒนาขึ้นบ้างในสมัยนี้
๑.วงปี่พาทย
์ ได้พัฒนาขึ้นเป็นวง ปี่พาทย์เครื่องคู่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้ม มาคู่กับระนาดเอก และประดิษฐ์ฆ้องวงเล็กมาคู่กับ ฆ้องวงใหญ่
๒.บทเพลง ในสมัยรัชกาลที่๓ มีการร้องเพลงสามชั้น ประกอบการบรรเลงดนตรี โดยพระประดิษฐ์ไพเราะ ( มี ดุริยางค์กูร) ครูมีแขก ได้นำเพลง ๒ ชั้น มาขยายให้มีจังหวะยาวมากขึ้นเป็นคนแรก ได้แก่เพลง แขกบรเทศ ฯลฯ
     


 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ( รัชกาลที่ ๔)
ดนตรีไทยในสมัยนี้ ที่พัฒนาขึ้น
๑.วงปี่พาทย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นวง ปี่พาทย์เครื่องใหญ่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ เครื่องดนตรี เพิ่มขึ้นอีก ๒ ชนิด เลียนแบบ ระนาดเอก และระนาดทุ้ม โดยใช้โลหะทำลูกระนาด และทำรางระนาดให้แตกต่างไปจากรางระนาดเอก และระนาดทุ้ม (ไม้) เรียกว่า ระนาดเอกเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็ก นำมาบรรเลงเพิ่มในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ ทำให้ ขนาดของ วงปี่พาทย์ขยายใหญ่ขึ้นจึงเรียกว่า วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่
อนึ่งในสมัยนี้ วงการดนตรีไทย นิยมการร้องเพลงส่งให้ดนตรีรับ หรือที่เรียกว่า " การร้องส่ง" กันมากจนกระทั่ง การขับเสภาซึ่งเคยนิยมกันมาก่อนค่อย ๆ หายไป และการร้องส่งก็เป็นแนวทางให้มีผู้คิดแต่งขยายเพลง ๒ ชั้นของเดิมให้เป็นเพลง ๓ ชั้น และตัดลง เป็นชั้นเดียว จนกระทั่งกลายเป็นเพลงเถาในที่สุด
๒.วงมโหรี
เกิดวงมโหรี เครื่องคู่ เพิ่มเครื่องดนตรีในวงให้เป็นคู่เหมือนกับวงปี่พาทย์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และ เพิ่มขลุ่ยให้มีเสียงสูงขึ้นกว่าเดิม เรียกว่า ขลุ่ยหลิบ
๓.วงมโหรีเครื่องใหญ่
ได้นำต้นแบบมาจากวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ โดยเพิ่มระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก และนำเอาซอด้วง ซออู้ ของวงเครื่องสายเข้ามาผสมในวงมโหรีด้วย เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีของวงมโหรีนั้น จะต้องลดขนาดให้เล็กลง เพื่อจะได้มีเสียงสมดุลกับเครื่องสายที่มีอยู่ในวง และเพื่อให้เหมาะกับผู้บรรเลง ซึ่งเป็นสตรี
๔.วงเครื่องสายปี่ชวา
เป็นวงเครื่องสายที่ประสมกับวงกลองแขก ซึ่งเดิมเรียกว่า “ กลองแขกเครื่องใหญ่”   ใช้บรรเลงในงานอวมงคล   มีเครื่องดนตรีดังนี้ ๑.   ปี่ชวา      ๒. ซอด้วง ๓. ซออู้ ๔. จะเข้ ๕. ขลุ่ยเพียงออ ๖. ขลุ่ยหลิบ ๗. กลองแขก          ๘. ฉิ่ง ๙. ฉาบ          ๑๐. กรับ      
๕.บทเพลง
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เกิดเพลงประเภทเพลงเถา เพลงเถาเพลงแรกชื่อว่า เพลงทยอยใน โดยครูเพ็ง (กล่าวกันว่าเป็นญาติผู้น้องของพระประดิษฐ์ไพเราะ ) พระประดิษฐ์ไพเราะได้ประพันธ์เพลงทยอยไว้มากมาก จนได้ชื่อว่าเจ้าแห่งเพลงทยอย นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ประพันธ์เพลงสำหรับอวดฝีมือขึ้นเป็นคนแรก คือเพลงทยอยเดี่ยวสำหรับปี่ใน โดยเฉพาะ และกลายเป็นเพลงเดี่ยว ( solo ) ต้นแบบของปัจจุบัน



 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ( รัชกาลที่ ๕)
ได้มีการปรับปรุงดนตรีไทยดังนี้
๑.วงปี่พาทย์ไม้นวม
เป็นการนำวงปี่พาทย์ไม้แข็ง มาเปลี่ยนไม้ที่ใช้ตีที่เดิมมีเสียงแข็ง กร้าว เปลี่ยนให้นุ่ม นวล น่าฟัง ใช้ขลุ่ยแทนปี่ใน ใช้กลองแขกแทนกลองทัดและตะโพน เพิ่มซออู้ ๑ คัน การจัดวงใช้หลักการจัดเหมือนวงปี่พาทย์ทุกอย่าง (เครื่องห้า เครื่องคู่ เครื่องใหญ่) เพียงแต่เปลี่ยนเครื่องดนตรีที่กล่าวมาขั้นต้น
๒.วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
สำหรับใช้บรรเลงประกอบการแสดง "ละครดึกดำบรรพ์" ซึ่งเป็น ละครที่เพิ่งปรับปรุงขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เช่นกันโดยสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์(ม.ร.ว. หลาน กุญชร)ได้แนวคิดจากแนวละครอุปรากร ( Opera ) หลักการปรับปรุงของท่านก็โดยการตัดเครื่องดนตรีชนิดเสียงเล็กแหลม หรือดังเกินไปออก คงไว้แต่เครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้ม นุ่มนวล กับเพิ่มเครื่องดนตรีบางอย่างเข้ามาใหม่ เครื่องดนตรี ในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ จึงประกอบด้วยระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ระนาดทุ้ม ระนาดทุ้มเหล็ก ขลุ่ย ซออู้ ฆ้องหุ่ย ( ฆ้อง ๗ ใบ) ตะโพน กลองตะโพน และเครื่องกำกับจังหวะ
๓.บทเพลง
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เกิดเพลงขึ้นหลายบทเพลง และได้รับความนิยมอย่างสูงมาจนถึงปัจจุบัน เช่น เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา พระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ เขมรไทรโยค สามชั้น พระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ลาวดวงเดือน สองชั้น พระนิพนธ์ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ยังเป็นผู้พระราชนิพนธ์ เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นครั้งแรก อันเป็นต้นเค้าของเพลงสรรเสริญพระบารมีในปัจจุบัน
   

  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ( รัชกาลที่ ๖)
เป็นสมัยที่การดนตรีเจริญขึ้นมากเพราะพระมหากษัตริย์ทรงสนพระทัยและทรงบำรุงอย่างจริงจัง ถึงแก่ตั้งกรมมหรสพซึ่งมีกรมบัญชาการ กรมโขนหลวง กรมพิณพาทย์หลวง กองเครื่องสายฝรั่งหลวง และกรมช่างมหาดเล็กสำหรับสร้างและซ่อมแซมสิ่งซึ่งเป็นศิลปะทั้งปวง เครื่องปี่พาทย์ประดับมุก ประดับงา จึงทำให้เกิดนักดนตรีไทยฝีมือดี ซึ่งต่อมาเป็นครูดนตรีไทยที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น   หลวงประดิษฐ์ไพเราะ
หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ( ศร ศิลปบรรเลง)
ผลงานของท่านมีมากมาย เช่นได้ การปรับปรุงวงปี่พาทย์ขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งโดยนำวงดนตรีของมอญมาผสมกับ วงปี่พาทย์ของไทย ต่อมาเรียกวงดนตรีผสมนี้ว่า "วงปี่พาทย์มอญ" วงปี่พาทย์มอญดังกล่าวนี้ ก็มีทั้งวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ เช่นเดียวกับวงปี่พาทย์ของไทย และกลายเป็นที่นิยมใช้บรรเลงประโคมในงานศพ มาจนกระทั่งบัดนี้
นำเครื่องดนตรีของชวา หรืออินโดนีเซีย คือ "อังกะลุง" มาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก โดยหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ทั้งนี้โดยนำมาดัดแปลง ปรับปรุงขึ้นใหม่ให้มีเสียงครบ ๗เสียง (เดิมมี ๕ เสียง) ปรับปรุงวิธีการเล่น โดยถือเขย่าคนละ ๒ เสียง ทำให้เครื่องดนตรีชนิดนี้ กลายเป็นเครื่องดนตรีไทยอีกอย่างหนึ่ง เพราะคนไทยสามารถทำอังกะลุงได้เอง อีกทั้งวิธีการบรรเลงก็เป็นแบบเฉพาะของเรา แตกต่างไปจากของชวาโดยสิ้นเชิง การนำเครื่องดนตรีของต่างชาติเข้ามาบรรเลงผสมในวงเครื่องสาย ได้แก่ ขิมของจีน และออร์แกนของฝรั่ง ทำให้วงเครื่องสายพัฒนารูปแบบของวงไปอีกลักษณะหนึ่ง คือ " วงเครื่องสายผสม
บทเพลง
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เกิดเพลงทางกรอ เพลงทางเปลี่ยน เพลงที่มี ลูกนำขึ้นต้น โดยหลวงประดิษฐ์ ไพเราะ


สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๗)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสนพระทัยทางด้าน ดนตรีไทย มากเช่นกัน พระองค์ได้พระราชนิพนธ์ เพลงไทยที่ไพเราะไว้ถึง 3 เพลง คือ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง 3 ชั้น เพลงเขมรลอยองค์ (เถา) และเพลงราตรีประดับดาว (เถา) พระองค์และพระราชินีได้โปรดให้ครูดนตรีเข้าไปถวายการสอนดนตรีในวัง แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ระยะเวลาแห่งการครองราชย์ของพระองค์ไม่นานเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และพระองค์ทรงสละราชบัลลังก์ หลังจากนั้นได้ 2 ปี มิฉะนั้นแล้ว ดนตรีไทย ก็คงจะเจริญรุ่งเรืองมาก ในสมัยแห่งพระองค์ อย่างไรก็ตามดนตรีไทยในสมัยรัชกาลนี้ นับว่าได้พัฒนารูปแบบ และลักษณะ มาจนกระทั่ง สมบูรณ์ เป็นแบบแผนดังเช่น ในปัจจุบันนี้แล้ว ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชมีผู้นิยมดนตรีไทยกันมาก และมีผู้มีฝีมือ ทางดนตรี ตลอดจน มีความคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ให้พัฒนาก้าวหน้ามาตามลำดับ พระมหากษัตริย์ เจ้านาย ตลอดจนขุนนางผู้ใหญ่ ได้ให้ความอุปถัมภ์ และทำนุบำรุงดนตรีไทย ในวังต่าง ๆ มักจะมีวงดนตรีประจำวัง เช่น วงวังบูรพา วงวังบางขุนพรหม วงวังบางคอแหลม และวงวังปลายเนิน เป็นต้น แต่ละวงต่างก็ขวนขวายหาครูดนตรี และนักดนตรีที่มีฝีมือเข้ามาประจำวง มีการฝึกซ้อมกันอยู่เนืองนิจ บางครั้งก็มีการประกวดประชันกัน จึงทำให้ดนตรีไทยเจริญเฟื่องฟูมาก ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ดนตรีไทยเริ่มซบเซาลง อาจกล่าวได้ว่า เป็นสมัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ ดนตรีไทย เกือบจะถึงจุดจบ เนื่องจากรัฐบาลในสมัยหนึ่งมีนโยบายทีเรียกว่า "รัฐนิยม" ซึ่งนโยบายนี้ มีผลกระทบต่อ ดนตรีไทย ด้วย กล่าวคือมีการห้ามบรรเลง ดนตรีไทย เพราะเห็นว่า ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ ใครจะจัดให้มีการบรรเลง ดนตรีไทย ต้องขออนุญาต จากทางราชการก่อน อีกทั้ง นักดนตรีไทยก็จะต้องมีบัตรนักดนตรีที่ทางราชการออกให้ จนกระทั่งต่อมาอีกหลายปี เมื่อได้มี การสั่งยกเลิก "รัฐนิยม" ดังกล่าวเสีย แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ดนตรีไทยก็ไม่รุ่งเรืองเท่าแต่ก่อน ยังล้มลุกคลุกคลาน มาจนกระทั่งบัดนี้ เนื่องจากวิถีชีวิต และสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม วัฒนธรรมทางดนตรีของต่างชาติ ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยเป็นอันมาก ดนตรีที่เราได้ยินได้ฟัง และได้เห็นกันทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือที่บรรเลงตามงานต่าง ๆ โดยมากก็เป็นดนตรีของต่างชาติ หาใช่ "เสียงพาทย์ เสียงพิณ" ดังแต่ก่อนไม่ ถึงแม้ว่าจะเป็นที่น่ายินดีที่เราได้มีโอกาสฟังดนตรีนานาชาตินานาชนิด แต่ถ้าดนตรีไทย ถูกทอดทิ้ง และไม่มีใครรู้จักคุณค่า ก็นับว่าเสียดายที่จะต้องสูญเสียสิ่งที่ดีงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติอย่างหนึ่งไป


  สมัยพระบาทสมเด็จปรเมนทรมหาอนันทมหิดล ( รัชกาลที่ ๘)
พระบาทสมเด็จปรเมนทรมหาอนันทมหิดล
การดนตรีไทยในสมัยนี้เป็นสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สมัยนี้“เป็นระยะที่ดนตรีไทยเข้าสู่สภาวะมืดมนเพราะรัฐบาลไม่ส่งเสริมดนตรีไทย และยังพยายามให้คนไทยหันไปเล่นดนตรีสากลแบบตะวันตก”   ต่อมาก็เกิดรัฐนิยมขึ้น “ การที่มีรัฐนิยมเกิดขึ้น กล่าวคือ ห้ามการบรรเลงดนตรีไทย ด้วยเห็นว่าดนตรีไทยไม่เหมาะสมกับชาติที่กำลังพัฒนา ให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ จึงมีการห้ามโดยเคร่งครัด แต่ยังอนุญาตให้บรรเลงในงานพิธีหรือในบางประเพณี แต่จะต้องไปขออนุญาตที่กรมศิลปากรหรืออำเภอก่อนและต้องมีบัตรนักดนตรี ที่ทางราชการออกให้ จึงทำให้นักดนตรีหัวใจห่อใจเหี่ยวไปตาม ๆ กัน บางคนถึงกับขาย เครื่องดนตรีอันวิจิตรงดงาม เพราะถึงเก็บไว้ก็เปล่าประโยชน์ เครื่องดนตรีอันงดงามวิจิตร หลายชิ้นที่ถูกขายไปในรูปแบบของเก่า หรือขายต่อให้ต่างประเทศไปอย่างน่าเสียดาย แต่ก็ยังมีนักดนตรีอีกไม่น้อยที่ไม่ยอมทิ้งดนตรีไทย เช่น หลวงประดิษฐ์ ไพเราะ ( ศร ศิลปบรรเลง) ยังคงแต่งเพลงต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ เพลงเอกของท่านที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๘ เช่น แสนคำนึงเถา กราวรำเถา แขกเงาะ และแขกชุมพล เป็นต้น และอาจารย์ มนตรี ตราโมท ก็หันมาประดิษฐ์เพลงระบำมากขึ้น ซึ่งเพลงไทยในระยะนี้ มีผู้นำทำนองเพลงไทยมาใส่เนื้อร้องเต็มตามทำนองบ้าง แต่งขึ้นเองบ้าง   เพื่อประกอบละครพูด ละครประวัติศาสตร์ และภาพยนตร์ ผู้แต่งมีหลายท่าน เช่น พรานบูรณ์ หลวงวิจิตรวาทการ ล้วน ควันธรรม ฯลฯ สำหรับหลวงวิจิตรวาทการร่วมกับอาจารย์มนตรี ตราโมทแต่งเพลงประกอบบทละครประวัติศาสตร์หลายเพลง เช่น เพลงเพื่อนไทย ใต้ร่มธงไทย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ฯลฯ เพลงเหล่านี้ มีลักษณะเป็นแบบตามใจผู้แต่ง จะเป็นเพลงไทยก็ไม่ใช่ เพลงฝรั่ง  ก็ไม่ใช่ การแต่งเพลงของหลวงวิจิตรวาทการแต่งโดยใช้จินตนาการของตนเองบ้าง บางเพลงก็นำทำนองของฝรั่งมาใส่เนื้อไทยบ้าง เช่น ภาพเธอ นักแต่งเพลงอื่น เช่น พรานบูรณ์ มีจุดมุ่งหมาย   ของการแต่งเพลงเพื่อนำไปประกอบภาพยนต์ ละคร เพลงที่แต่งจึงพยายามให้เหมาะกับเนื้อเรื่อง  เป็นสำคัญ เช่น เพลงดูซิดูโน่นซิ เพลงร้อนแดด ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า เพลงในระยะนี้เป็นเพลง   ที่ยังไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ทฤษฎีตะวันตกอย่างแท้จริง    ถึงอย่างไรก็ตาม ดนตรีไทยสมัยนี้ก็มิได้ซบเซาถึงขนาดจะขาดตอน เหมือนเมื่อครั้ง   เราเสียกรุงศรีอยุธยา แม้จะซบเซาลงบ้างและเกิดเพลงไทยสากลขึ้น เพลงไทยสากลที่เกิดขึ้น   ใหม่นี้ ก็ยังเอาเค้าของเดิมหรือเอาเพลงไทยของเดิมมาร้องเล่น เพียงแต่เปลี่ยนจังหวะให้   กระชับขึ้นเป็นแบบฝรั่ง ของไทยแท้จึงไม่ถึงกับสูญและโชคดีที่ยุดนี้สั้นมาก มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลกันบ่อยในที่สุด ดนตรีไทยแท้ก็กลับคืนมาอีกครั้ง


 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๙) แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ที่ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านดนตรีสากลถึงแก่พระราชนิพนธ์เพลงขึ้นไว้หลายเพลงแต่พระองค์ก็ ทรงสนพระทัยในการดนตรีไทยเป็นอันมากได้พระราชทานทุนให้พิมพ์เพลงไทยเดิมเป็นโน้ตสากลออกจำหน่าย เป็นที่นิยมของวงการดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่งเวลาที่ทรงรับแขกบ้านแขกเมืองหรือมีงานบันเทิงส่วนพระองค์ ก็มักจะโปรดเกล้าให้บรรเลงดนตรีไทยเสมอ
บทเพลง
ในสมัยรัชกาลที่ ๙ สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อง เพลงไทยดำเนินดอย (ลาวดำเนินทราย) อันแสดงให้เห็นถึงพระราช กรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครูมนตรี ตราโมท ได้ประพันธ์เพลงไว้มากมายได้แก่ เพลงสามชั้น เพลงเถา เพลง๒ ชั้น เพลงชั้นเดียว เพลงร้องสอดดนตรี ไว้มากมาย ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐เพลง

      
ลองทำแบบทดสอบ